วันพุธที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ปราสาทพะโค


ปราสาทหินบ้านพะโค หรือ ปราสาทปะโค ตั้งอยู่ในเขตตำบลบ้านกระโทก อำเภอโชคชัย จังหวัดนครนครราชสีมา ถิ่นน้าชาติ บ้านคุณสุวัจน์และเจ้าภาพกีฬาซีเกมส์ในปลายปีไงครับ
.
หากเดินทางจากตัวจังหวัด ตามถนนหลวงหมายเลข 224 ผ่านแหล่งเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนอันเลื่องชื่อของเมืองโคราช ประมาณ 30 กิโลเมตรก็จะมาถึงตัวอำเภอโชคชัย เดินทางต่อจากตัวเมืองโชคชัยไปทางอำเภอครบุรี ด้วยทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2071อีกประมาณ 3 – 4 กิโลเมตร ก็จะพบปราสาทองค์เล็ก ๆ ทางด้านขวามือ

.
ซึ่งหากเดินทางโดยไม่ได้เจาะจงสนใจมากนัก ก็จะผ่านเลย "ปราสาทพะโค" ไปได้โดยง่าย
.

.

ด้วยเพราะปราสาทหินพะโคเป็นปราสาท"ขนาดเล็ก" ไม่ได้ตั้งอยู่ในเส้นทางโปรโมทแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจของเมือง
โคราช เช่นเดียวกับ ปราสาทหินใหญ่ ๆ อย่างปราสาทหินพิมาย ปราสาทพนมวัน ปราสาทเมืองแขก เมืองเสมา ฯลฯ จึงไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวหลงทางแวะมาชมกันมากนัก เรียกได้ว่าถ้าจะมาก็ต้องตั้งใจมากันจริง ๆ แล้วค่อยตัดเดินทางไปตามเส้นทางลัดสาย สูงเนิน - โชคชัย เดินทางลัดไปจังหวัดบุรีรัมย์
.
เฉพาะที่อำเภอปักธงชัย ใกล้เคียงกับปราสาทพะโคก็มีปราสาทขนาดเล็กที่สร้างเพื่อเป็นปราสาท "สรุก" หรือเทวาลัยประจำชุมชนโบราณ ถึง 8 หลัง เช่น ปราสาทบ้านนาแค ปราสาทบึงคำ ปราสาทสระหิน ปราสาทบ้านปรางค์ ฯ ในอำเภอโชคชัยก็มีอยู่ 3 ปราสาทและมีปราสาทหินน้อยใหญ่รวม 34 แห่ง ทั่วเขตจังหวัดนครราชสีมา บางแห่งก็บูรณะแล้ว บางแห่งก็ยังมีสภาพรกร้างเดิม ๆ ดิบอยู่
.
ปราสาทหินตามชุมชนโบราณขนาดเล็กทั้งหลายนี้ ส่วนใหญ่จะมีสภาพพังทลายไม่สมบูรณ์ เพราะต้องผจญกาลเวลามายาวนานกว่าพันปีบ้าง เกือบพันปีบ้าง ปราสาทหินจึงมี "ความไม่สมบูรณ์" ที่หลากหลาย ทั้งแบบที่ยังสร้างไม่เสร็จก็หยุดสร้าง เพิ่งเริ่มสร้างยังไม่ทันแกะสลักลายก็หยุดสร้าง หรือถูกทำลายจากภัยธรรมชาติเช่นแผ่นดินไหว บ้างก็มีต้นไม้ ป่ารกขึ้นปกคลุมแทนเพราะไม่มีชุมชนมาใช้ประโยชน์หรือมาคอยดูแลรักษา
.
บางปราสาท ฐานล่างต้องรับทั้งน้ำฝน ความชื้นและความร้อน ก็ล้วนแต่จะช่วยทำให้หินทรายเกิดปฏิกิริยาพองและกรอบ จึงรับน้ำหนักด้านบนที่กดทับลงมาไม่ไหวก็แตกกร่อนพาให้ด้านบนพังทลายลงมา
.
บางปราสาทก็อาจถูกผู้คนในยุคหลังเข้ามารื้อทำลาย ทั้งเพื่อนำหินไปสร้างปราสาทหรือศาสนสถานตามคติความเชื่อที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งการค้นหาทรัพย์สมบัติและโลหะที่มีค่าไปใช้ประโยชน์
.
ปราสาทหินและโบราณสถานหลายแห่งล้วนเสื่อมสภาพและพังทลายตามเงื่อนไขที่กล่าวมาทั้งสิ้น บางปราสาทหินก็อาจจะเจอสองเด้งทั้งภัยธรรมชาติและจากน้ำมือของมนุษย์
.
ผมโชคดีได้เดินทางไปทำงานสำรวจปราสาทในอีสานในโครงการของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเมื่อประมาณกว่า 15 ปีที่แล้ว จึงได้มาพบกับปราสาทปราสาทพะโคที่ซ่อนเร้นเป็นโคกป่าอยู่ริมทาง ในช่วงก่อนที่จะมีการบูรณะในปี 2535 ครับ
.

.
คำว่า "พะโค" มาจากคำว่า "ปะโค" ซึ่งเป็นชื่อเมืองเก่าแก่ในนิทานภาคอีสาน เรื่องหอนางอุษาหรืออุสา-บารส หรืออาจจะมาจากคำเขมรว่า "เปรียะโค" แปลว่า "พระโค(วัว)" ชาวบ้านในพื้นที่ปัจจุบันน่าจะเคลื่อนย้ายมาจากทางอีสานเหนือเมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้ว จึงนำชื่อเรียกใหม่สวมทับปราสาทในภายหลังครับ
.
สภาพก่อนการบูรณะนั้น ปราสาทมีสภาพเป็นโคกเนินดินทับถมขนาดใหญ่ มีต้นไม้ใหญ่น้อยขึ้นรกรุงรัง มีกองหิน อิฐและเศษรูปสลักกระจัดกระจายอยู่บนเนิน มีร่องรอยการขุดหาของเก่าหลายหลุม บางโรงเรียนโดยรอบปราสาทได้มานำทับหลังและรูปสลักหินไปเก็บไว้ บางทีก็เป็นบ้านคนมาเก็บไป บางทีก็เป็นวัดมาเก็บ มีการลักลอบนำลายแกะสลักหินที่แตกหักออกจากปราสาทไปบ่อยครั้ง
.
ปราสาทพะโคในสายตาของผมในเวลานั้นอยู่ในสภาวะเสื่อมสภาพอย่างรุนแรง ตามความเห็นและข้อสันนิษฐานของผม ปราสาทหินองค์นี้ เป็นปราสาทที่สวยงามและอลังการที่สุดในบรรดาปราสาททางทิศใต้ของเขตเมืองโคราช อายุของปราสาทอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 15 -16ฝีมือช่างแกะสลักระดับช่างหลวงคลาสลิค แบบแผนศิลปะเทียบเคียงได้กับศิลปะเกลียงหรือคลังในประเทศกัมพูชา
.

.

.
ผมอยากเรียกว่าเป็นศิลปะแบบ "กระโทกโชคชัย" มากกว่า เพราะรายละเอียดของการแกะสลักช่วงสวยงามและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นจริง ๆ ถึงจะจิ๋วแต่ก็แจ๋วสุด ๆ
.
ลักษณะของปราสาทเป็นปรางค์เดี่ยว หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีปรางค์น้อยที่หลายคนเรียกว่าบรรณาลัยจำนวน 2 องค์ ตั้งอยู่ทางด้านหน้าแนวเหนือและใต้ แต่ผมไม่คิดว่าจะเป็นบรรณาลัย (ห้องสมุดหรือห้องพิธีพราหมณ์) ตามเขา เพราะมีหลักฐานของยอดปราสาทถึงสามยอด ที่แกะสลักได้อ่อนช้อยงดงามกว่าที่ไหน ๆ วางกองทนโท่อยู่ ก็แสดงว่าเป็นปราสาทสามหลัง สามใบเถาแน่ ๆ  ที่ยอดปราสาทยังคงอยู่ก็เพราะน้ำหนักหินทรายสลักก็ไม่ใช่น้อย ๆ จึงไม่มีใครสนใจจะขนไปเป็นที่ระลึก
.

.
ปรางค์ประธานและปรางค์น้อยทั้งสองอยู่ในสภาพพังทลายลงมาทั้งหมดครับ ปรางค์น้อยด้านทิศใต้ถูกรื้อหายไปทั้งฐานราก ? นี่คือปมปริศนาที่น่าฉงนของปราสาทงามแห่งเมืองกระโทกโชคชัย หินทรายหรืออิฐที่เป็นโครงสร้างของตัวเรือนปราสาทประธานอันตธานหายไปทั้งหมด มันหายไปไหน !!!
.

.
       หลายคนหลายตำราก็พยายามอธิบายว่าวัสดุที่ใช้เป็นเรือนธาตุนั้นอาจจะเป็น อิฐดินเผา จึงพังทลายกลายไปดินธุลีไปตามเวลา
.
ผมก็ให้ขำในข้อสันนิษฐานที่แตกต่างกันไป ปราสาทอิฐมากมายในยุค 100 – 500 ปีก่อนหน้ากลับล้วนยังอยู่รอดให้เห็นซากได้มากมาย ประมาณเศษอิฐที่ยังหลงเหลือกระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ ก็เห็นจะไม่มากพอที่จะใช้ก่อเป็นเรือนปราสาทได้สักหลัง
.
แต่นี่เรือนปราสาทหายไปทั้งสามหลังเลยครับ !!!
.

.
หินทรายหรืออิฐที่ใช้เป็นเรือนธาตุของปราสาทหายไป ปราสาทหลังเล็กหลังหนึ่งถูกรื้อจนไม่เหลือแม้กระทั่งฐาน ปราสาทหลังเล็กอีกหลังหนึ่งเหลือเพียงระดับหน้าบันชั้นแรก ผนังก็ยังหาย เหลือแต่ประตูผุกร่อน
.
ปราสาทพะโค ถูกรื้อทำลายอย่างตั้งใจหรือ ? รูปเคารพจำนวนมากหายไปไหน ฐานรูปศิวลึงแตกปิ่นที่ขอบ (เพราะเหตุมีของหนักหล่นมาจากด้านบนมากระแทก) ก็ยังตั้งอยู่ในปราสาทประธาน ชิ้นส่วนประดับปราสาทที่เรียกว่า "เครื่องบน" หรือ "กลีบขนุนรูปปราสาทจำลอง" จำนวนมาก ร่วงหล่นลงมากระแทกหินที่ฐานแตกหัก สภาพเป็นชิ้นสมบูรณ์ก็แทบหาไม่ได้เลย กลีบขนุนรูป "นักบวชและรูปฤๅษี"  ก็มีร่องรอยถูกทุบทำลาย แตกเป็นชิ้น ๆ เช่นกัน
.
ปราสาทพะโค ที่สวยงามไปทำอะไรใครเขา ทำไมจึงถูกรื้อทำลายได้อย่างรุนแรงเช่นนี้ !!!
.

.
ผมมุ่งเป้าแก้ปมปริศนาไปที่ประเด็นเรื่องประติมานวิทยาของเรื่องเล่าเทพเจ้าในรูปสลักที่อาจจะสะท้อนคติความเชื่อทางศาสนา อันเป็นที่มาของการสร้างปราสาทพะโคและชุมชนโบราณผู้สร้างปราสาทหลังนี้
.
รูปสลักที่นี่จำนวนมาก สลักในเรื่องราวของพระวิษณุในลัทธิไวษณพนิกายเป็นส่วนใหญ่ ทั้งพระนารายณ์ทรงครุฑก็มีแทบทุกหน้าบัน รูปนารายณ์ตรีวิกรม อภิเษกพระศรีหรือพระลักษมี พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ พระกฤษณะประลองกำลัง แต่ไม่เห็นรูปของพระศิวะเลย
.

.

.
ในขณะที่สังคมชุมชนเขมรโบราณในยุคสมัยเดียวกันนั้นให้ความสำคัญกับลัทธิไศวะนิกายหรือลัทธิการบูชาพระศิวะหลัก เรียกว่าชุมชนที่นี่คงเป็นชนกลุ่มน้อยในยุคนั้น
.
หรือจะเป็นเพราะเหตุความขัดแย้งทางคติความเชื่อ ถึงขั้นลงไม้ลงมือทำลายเทวสถานกัน ถึงจะมีฐานของเคารพอยู่ในปรางค์ประธาน แต่ก็ไม่เคยพบศิวลึงค์ที่นี่เลยสักชิ้น ก็เป็นข้อสันนิษฐานที่เป็นไปได้ หรือชุมชนโบราณอาจเกิดโรคระบาดขั้นวิกฤต จึงทิ้งร้างศาสนสถานแห่งเทพเจ้าไป ก็เป็นไปได้อีก
.

.
ปราสาทพะโค "อาจจะ" ถูกทำลายโดยผู้คนชุมชนใหม่ในยุคพุทธศตวรรษที่ 17 ที่ย้ายเข้ามาใหม่ ซึ่งอาจจะทำลายโดยตั้งใจเพื่อรื้อตัวปราสาทให้ถล่มลงเพราะเป็นปราสาทที่ขัดแย้งความเชื่อในคติบูชาเทพเจ้าของตน หรือ อาจจะเข้ามาพบปราสาทร้างและต้องการนำหินไปใช้เพื่อสร้างปราสาท "สรุก" ศูนย์กลางท้องถิ่นของตนใหม่ จึงทำการรื้อถอนปราสาทด้วยวิธีการการล้อมเชือกโดยรอบแล้วใช้ช้างลากหรือแรงงานคนชักคะเย่อ จนปราสาทถล่มล้มลงมาทั้งหลัง
.

.
หลังจากลำเลียงหินทรายก้อนที่เป็นโครงสร้างปราสาทไปแล้ว ก็จะทิ้งหินทรายที่มีรูปแกะสลักเดิมไว้ เพราะไม่ต้องการนำไปใช้ เราจึงยังพบทั้งเสากรอบประตูสลักลวดลายสวยงาม กรอบประตูหน้าต่าง ทับหลัง หน้าบันและยอดปราสาทครบทั้งสามหลังทิ้งไว้ รวมกันกับกองปราสาทจำลอง หินสลักจำนวนมากอยู่ในสภาพแตกหักเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย และมีร่องรอยหลักฐานของการกระทบกระแทกหินกันอย่างรุนแรงปรากฏอยู่มากมาย
.
หินแตกหักจำนวนมากของปราสาทพะโค สวยงามเพราะมีลวดลายสลักติดอยู่ จึงกลายมาเป็นของที่ระลึก (Souvenir) ชั้นดี ขนาดพอเหมาะสำหรับผู้คนที่แวะมาท่องเที่ยวเยี่ยมเยือนในช่วงปัจจุบันต่างก็มาหยิบฉวยออกไปมากมายครับ
.
ผมได้ถ่ายรูปตอนขุดค้นและขุดแต่งปราสาทพะโคไว้ ซึ่งในช่วงนั้นก็กำลังขุดพบ "แผ่นทองคำศิลาฤกษ์" บริเวณฐานศิลาแลงของปราสาทประธานทางฝั่งทิศเหนือพอดี แผ่นทองคำเป็นรูปบัวแปดกลีบวางในช่องหินเล็ก ๆ หลายช่อง จำได้ว่าพบแผ่นใหญ่ 3 แผ่น และแผ่นเล็ก ๆ อีกหลายแผ่น ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพิมายครับ
.

.
หน้าบันของปราสาทพะโคมีลักษณะสถาปัตยกรรมที่ค่อนข้างแปลกกว่าปราสาทหินเขมรในประเทศไทยองค์อื่น ๆ หน้าบันสลักเข้าไปในตัวเรือนปราสาท โค้งลงมาเข้าหาทับหลังและกรอบประตูแทนที่จะแยกออกมาเป็นแผ่นหน้าบันต่างหาก ซึ่งลักษณะนี้คล้ายกับที่ปรางค์น้อย ในปราสาทหินเขาพนมรุ้ง ปราสาทเมืองแขกและปราสาทบ้านพลวง ซึ่งล้วนอยู่ในสมัยต้นศิลปะแบบบาปวนแต่ที่ปราสาทพะโคนี้จะดูเก่าและแปลกตากว่ามาก
.

.

.
ดูกี่ครั้งกี่หนผมก็เห็นว่า ลวดลายแกะสลักของปราสาทพะโคนี้ แปลกและงดงามมากจริง ๆ ดูจากแค่เฉพาะลายแกะสลักที่ประตูหลอกของปรางค์น้อยสิครับ หากปราสาทสมบูรณ์แบบ จะเป็นปราสาทหินที่งดงามเทียบได้กับปราสาทบันทายศรีในเมืองเสียมเรียบของกัมพูชาเลยทีเดียว
.

.
นอกจากนี้ยังขุดพบรูปสลักทวารบาลราชสีห์หน้าปราสาทจำนวนฐานครบเฝ้าทั้งสามปราสาท แต่ตัวสิงห์เหลือให้เห็นอยู่เพียงสามตัวที่หายไปคงกำลังเฝ้าประดับบ้านใครอยู่ก็ไม่รู้ได้
.

.
หัวนาคปลายหน้าบันที่นี่ก็แปลกตัวยืดยาวสวมมงกุฎก็ยาวแยกกันเป็นของใครของมัน มีสิงห์ หน้ากาล และลิงมาคายนาค 5 เศียรแทนที่จะเป็นมังกรคายนาคเช่นปราสาทองค์อื่น ๆ เขานิยมสลักกัน
.
หน้าบันและรูปสลักส่วนใหญ่ของปราสาท ได้ถูกนำไปเก็บและจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพิมายครับ ส่วนที่แตกหักก็ยังกองทิ้งไว้ในเขตปราสาท แต่ถ้าผมจำไม่ผิด หน้าบันจำนวนหนึ่งได้ถูกนำไปไว้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มหาวีรวงศ์ ตึกหลังเล็ก ๆ ในวัดสุทธจินดา ตรงข้ามกับศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา
.
พิพิธภัณฑ์หลังนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็ก เก็บรวบรวมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่เป็นงานสะสมของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสโส)อดีตพระเถระสำคัญของภาคอีสาน ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดสุทธจินดาในอดีตครับ
.

.
กรมศิลปากรจึงได้สร้างอาคารชั้นเดียวทรงไทยหลังหนึ่ง ภายในพื้นที่ของวัดสุทธจินดา เพื่อเก็บรักษางานสะสมของพระท่าน จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขึ้น เมื่อปี 2497
.
ปราสาทพะโค เป็นปราสาทที่มีความงดงามโดดเด่น มีลวดลายแกะสลักที่วิจิตรบรรจง แต่ก็ซ่อนเร้น ยากที่จะเดินทางไปเยี่ยมเยือน แต่หากมีโอกาสสักครั้ง ก็ไม่ควรพลาดที่จะเจาะจงเข้าไปชมปราสาทองค์นี้ที่อำเภอโชคชัย และควรแวะไปดูชิ้นส่วนงานแกะสลักของปราสาทที่กระจัดกระจายไปอยู่ตามพิพิธภัณฑ์ในตัวเมืองโคราชและที่เมืองพิมาย
.
บางทีท่านอาจจะพบกับหลักฐาน ทั้งวิญญาณและสายลม ได้ช่วยกันไขปมปริศนาสำคัญว่า เหตุใดปราสาทที่สวยงามหลังนี้จึงถูกทำลายลงอย่างราบคาบ ถึงเหลือแต่ชิ้นส่วนแตกหักแต่ก็ช่างงามอลังการหนักหนา
.

.
ไม่แน่นัก ท่านอาจจะเป็นผู้เฉลยเงื่อนงำปริศนานี้ได้เอง เมื่อได้ไปเยือนและใช้มือลูบไล้สัมผัสเบา ๆ กับร่องสลักหินทรายของ "ปราสาทพะโค" ท่ามกลางกลิ่นอายของความรู้สึกโดดเดี่ยวและเงียบเหงา ที่บ้านกระโทก เมืองโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา
.
หากไปพบอะไรใหม่ ก็อย่าลืมมาบอก มาอวดกันบ้างนะครับ !!!
.

ที่มา : www.oknation.net   โดย ศุภศรุต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น